Skip links

“ชุดนักเรียน” เส้นบางๆ ระหว่าง Soft Power กับ Hard Power?

ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ “ชุดนักเรียน” ถือว่าเป็นหนึ่งในไอเท็มยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะชาวจีน ที่สวมใส่ “ชุดนักเรียน” จนกลายเป็น “แฟชั่น” ในหมู่คนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ทั้งการแต่งชุดนักเรียนตามเทรนด์ ตามไอดอล อินฟลูฯ หรือมาเพื่อตามรอยภาพยนตร์ / ซีรี่ส์ก็ดี สิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็น “พลังนุ่ม-อำนาจนิ่ม” หรือว่า “Soft Power” ที่หลายคนพูดถึงได้อยู่เหมือนกัน

.

โดยล่าสุดเป็นกระแสไปถึงเวียดนาม ที่นักเรียนเวียดนามฮิตแต่งชุดนักเรียนไทย ถึงขนาดที่สตูดิโอรับจ้างถ่ายภาพต้องโฆษณาเชิญชวนให้นักเรียนเวียดนามมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในวันจบการศึกษา ด้วยคอนเซ็ปต์ “ชุดนักเรียนไทย” โดยมีบริการให้เช่าชุดนักเรียน ชุดพละ ฯลฯ สำหรับถ่ายรูป ซึ่งมีสตูดิโอถ่ายภาพลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อยในเวียดนาม

.

ปรากฏการณ์ดังกล่าว หลายคนยกให้เป็นความดีความชอบของวงการบันเทิงไทย ที่สร้างเอกลักษณ์ / ภาพจำ กระทั่งมีอิทธิพลดึงดูดให้ชาวต่างชาติทำตาม ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และมีส่วนช่วยในการเพิ่มยอดขายให้ร้านขายชุดนักเรียนไทยไปด้วย

กระนั้นก็ตาม เรื่องชุดนักเรียนในมุมมองของคนไทย ดูเหมือนเสียงจะแตกออกเป็นสองฝ่าย คือมีฝ่ายที่ต้องการรักษาบทบัญญัตินี้ไว้ กับฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิก ‘การบังคับ’ ใส่ชุดนักเรียน

.

โดยฝ่ายที่ต้องการยกเลิกการบังคับนั้น บ้างก็ให้เหตุผลในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และบ้างก็กล่าวถึงโอกาสที่เด็กจะได้เล่นไป-เรียนรู้ไปอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดในชุดสีขาวที่เปรอะง่าย (ยิ่งชุดเด็กผู้หญิงที่มีกระโปรง ก็ยิ่งเพิ่มข้อจำกัดเข้าไปใหญ่) เพราะวันที่เด็กจะเล่นสนุก ไม่ได้มีแค่วันที่เรียนวิชาพละเท่านั้น

.

ด้วยเหตุนี้ บางฝ่ายจึงตั้งคำถามว่า จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนจากการบังคับให้ใส่ชุดนักเรียนทุกวัน เป็นใส่ชุดไปรเวทตามสมัครใจ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้การเลือกชุดแต่งกายให้เหมาะสมกับตนเอง และเหมาะสมตามกาละเทศะต่างๆ รวมถึง ภาครัฐก็ควรพิจารณาการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายปีที่ผู้ปกครองต้องแบกรับให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ มิให้เยาวชนของชาติต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้อาภรณ์ที่เคร่งครัด

ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยก และเป็นที่ถกเถียงในสังคมมานานหลายปีว่า ‘การบังคับ’ ใส่ชุดนักเรียนทุกวันนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม? และบทบาทของ “ชุดนักเรียน” ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ควรจะเป็นอย่างไร? เพื่อไม่ให้เป็นการใช้อำนาจที่ดู ‘Soft’ หรือดู ‘Hard’ จนเกินไปต่ออนาคตของชาติ

.

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวดูท่าสังคมจะยังไม่สามารถได้ข้อสรุปในเร็ววันเป็นแน่ ทว่าเนื่องในวาระเปิดเทอม จึงอยากจะขอความเห็นจากคุณผู้อ่านที่รักว่า “ชุดนักเรียน” ของเรานี้เป็น “Soft Power” หรือ “Hard Power” หรือไม่? อย่างไร?