ขอแสดงความยินดีแก่บรรดาศิลปินมรดกอีสาน เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. มอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแด่ศิลปินถิ่นอีกสาน ผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ด้วยการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสู่ระดับประเทศ
โดยในปีนี้ รายชื่อที่จุดกระแสความสนใจจากสังคมได้ไม่น้อยเลยคือ ‘สุเทพ โพธิ์งาม’ หรือ “ป๋าเทพ” นักแสดงตลกรุ่นใหญ่ผู้คร่ำหวอดในวงการแสงสีมาหลายสิบปี จนเปรียบดังครูตลกที่คอมเมดี้ยุคหลังต้องศึกษาเรียนรู้
อีกหนึ่งรายชื่อซึ่งเป็นพูดถึงไม่แพ้กันคือ เจ้าของสมญานาม ‘ตำนานเพลงเพื่อชีวิตรุ่นที่ 3’ อย่าง “พงษ์สิทธิ์ คำภีร์” นักร้อง / นักแต่งเพลง ผู้มีเพลงฮิตมากมาย ทั้งยังครองใจแฟนเพลงมาทุกยุคทุกสมัย
นอกจากนี้ ยังมีรายนามที่หลายคนคุ้นเคย อาทิ ศรชัย เมฆวิเชียร (นักร้องลูกทุ่ง), ธงชัย ประสงค์สันติ (ผู้จัดละคร)
และรายชื่ออื่นๆ ที่สร้างคุณูปการแก่แวดวงต่างๆ อาทิเช่น บุญจัน ชูชีพ (หมอลำกลอนทำนองพุทไธสง), บุญชื่น บุญเกิดรัมย์ (การแสดง), ภัฎ พลชัย (ประติมากรรม), ไชยา วรรณศรี (วรรณกรรมร่วมสมัย) ฯลฯ
แน่นอนว่า รางวัล ‘ศิลปินมรดกอีสาน’ ย่อมเป็นการยกย่องเกียรติคุณแด่ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางมานานหลายสิบปี ทว่าหากลองพิจารณาถึงวงการศิลปวัฒนธรรมแห่งดินแดนที่ราบสูง จะพบว่า ‘pop culture’ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดระดับประเทศอยู่พอสมควร จากการทำงานของศิลปินหลากหลายแขนง
และหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว มีจำนวนมากที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลักดัน soft power จากฝั่งอีกสานให้ก้าวขึ้นสู่ระดับชาติ และอาจเป็นตัวแทนทีมชาติไปโปรยเสน่หาในระดับสากล
ไม่ว่าเป็นสิงโต นำโชค หรือ โจอี้ ภูวศิษฐ์ ศิลปินที่ผสานกลิ่นไอความเป็นไทย-ลาว เข้ากับดนตรีร่วมสมัย จนโด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร หรือแม้แต่ ก้อง ห้วยไร่ ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดเฟสติวัลสร้างความคึกคักในระดับภูมิภาค ทั้งยังเป็นการยกระดับชาติตระกูลเทศกาลรื่นเริงสำเนียงม่วนจอยไปสู่สเกลมาตรฐาน
ในวงการภาพยนตร์ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะ ‘จักรวาลไทบ้าน’ ที่ตอนนี้คงต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ระดับประเทศแล้ว หากแต่กำลังดีดตัวสู่เวทีระดับนานาชาติ ด้วยผลงาน “สัปเหร่อ” ที่ยกธงนำขบวนภาพยนตร์ไทยสู่สายตาชาวโลก
ยังมีอีกหลายรายนามเกินจะกล่าวอย่างทั่วถึง ทั้งศิลปินอีสานที่เผยแพร่ศิลปะบ้านเกิดสู่คนทั้งประเทศ รวมถึงสู่ทั้งโลก ฉะนั้น คนทำงานเหล่านี้จึงเปรียบดังทูต soft power ที่ช่วยนำเสนอวัฒนธรรมจากภูมิลำเนา อีกทั้งช่วยสืบสานและยกระดับมรดกท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน
หลังจากนี้ เมื่อมีการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ไม่แน่ว่า วัฒนธรรมจากแดนอีสาน อาจจะสามารถครองใจชาวต่างชาติได้มากกว่าที่เคยก็อาจเป็นได้
แล้วคุณล่ะ คิดว่าใครในยุคนี้สมควรได้รางวัล ‘ศิลปินมรดกอีสาน’ คนต่อไป? สามารถเชิดชูเกียรติรายชื่อเหล่านั้นได้ตามอัธยาศัยที่ช่องคอมเมนท์ด้านล่าง