Hollywood หนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ผดุงความยุติธรรม ประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมายที่ตอนนี้แค่ใครได้ยินต่างก็รู้ได้แทบจะทันทีว่าเป็นผลผลิตจากซอฟต์ พาวเวอร์ แต่ใครจะคิดว่าการประกวดนางงามจักรวาลอย่าง Miss Universe เองก็เป็นหนึ่งในผลผลิตจากซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐ
Miss Universe แจ้งเกิดพร้อมซอฟต์ พาวเวอร์
การประกวด Miss Universe เป็นการประกวดนางงามในระดับนานาชาติที่แต่ละประเทศจะเฟ้นหา ปลุกปั้นสาวงามของตัวเองเข้าประกวด ทำให้ฉากหน้าการประกวดนางงามครั้งนี้ เป็นเหมือนการรวมตัวสาวงามจากทุกสารทิศไว้ในที่เดียว แต่ฉากหลังของเรื่องนี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวการเมือง ทุนนิยมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แรกเริ่มเดิมทีการประกวดนางงามจักรวาล หรือที่รู้จักกันในชื่อ Miss Universe นั้น เป็นการประกวดนางงามที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยแปซิฟิก มิลส์ (Pacific Mills) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าและชุดว่ายน้ำ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1952 ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2-สงครามเย็นที่เป็นช่วงเวลาการก่อตัวของ ซอฟต์ พาวเวอร์ ของสหรัฐอเมริกา
หากย้อนดูตามหน้าประวัติศาสต์หลายครั้งหลายคราที่นางงามนี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางการเมืองบางอย่าง ตั้งแต่ในช่วงยุคสงครามเย็นไปจนถึงยุคหลังสงครามเย็น อาทิ
ในยุคสงครามเย็น การชนะครั้งหนึ่งที่ดูมีพิรุธว่าเหตุที่มงลงเป็นเรื่องมากกว่าความงาม เกิดขึ้นในปี 1961 โดยในปีนั้น มาร์ลีน ชมิตท์ (Marlene Schmidt) จากประเทศเยอรมนีเป็นผู้คว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลไป
มาร์ลีน ชมิตท์ เกิดและเติบโตที่เมืองเบรสเลา ซึ่งอยู่ในเยอรมนีตะวันออก ก่อนจะย้ายไปที่เมืองสตุตการ์ท ในเยอรมนีตะวันตก ในปี 1960 และเข้าร่วมประกวดนางงามต่าง ๆ จนมาจบที่รางวัลใหญ่สุดในเวทีนี้ และกลายเป็น Miss Universe คนแรกและคนเดียวของเยอรมันมาจนถึงตอนนี้
การที่นางงามจากประเทศที่ครึ่งหนึ่งเข้าสู่คอมมิวนิสต์ไปแล้วได้ตำแหน่งจากเวทีนางงามสหรัฐ ซึ่งกำลังอวดอ้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นเหมือนการมอบมงกุฎแห่งประชาธิปไตยไปในตัวอย่างน่าบังเอิญ
หรืออย่างก้าวแรกของ สาวไทย ในจักรวาล ในปี 1965 เอง ก็บังเอิญมีเหตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นตามมาในเวลาไม่นาน โดยในตอนแรกนั้น บริษัท มิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) เป็นผู้แสดงเจตจำนงมายังรัฐบาลไทยด้วยตนเอง ผ่านการร่อนจดหมายส่งถึงองค์กรการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ไทยส่งสาวงามมาประกวด ซึ่งทางรัฐบาลไทยมองเห็นว่า มูลค่าคำเชื้อเชิญนี้ถือว่าสูงมากนัก หากเทียบกับการแสดงให้เห็นถึงการเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างไทย-อเมริกา ทั้งยัง ได้นำเสนอภาพ เมืองไทย ให้จักรวาลได้รู้จัก และเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสด้วยตนเอง จึงพลิกแผ่นดินหาสาวงามทั่วราชอาณาจักร จนเจอ อภัสสรา หงสกุล
แม้จะเป็นการประกวดครั้งแรกของไทย แต่ อภัสสรา หงสกุล สามารถคว้าอันดับ 1 มาได้ในทันที พร้อมสร้างชื่อให้ความงามของหญิงไทยได้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก แต่หากย้อนดูเหตุการณ์ในช่วงนั้น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ไทยได้พร้อมกับมงกุฎและสายสะพายนั้น คือการปิดสนามบินอู่ตะเภาชั่วคราว เพื่อให้กองทัพสหรัฐลำเลียงอาวุธไปยังประเทศแถบอินโดจีนและใช้เป็นฐานในการทำสงครามในภูมิภาคนี้
มิสยูเวิร์ส เวอร์ชัน ทรัมป์
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เวทีนี้ก็ยังคงเป็นเวทีการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 1997 เวทีนี้ถูกผลัดมือเข้าสู่ยุคของ “โดนัลด์ ทรัมป์” พร้อมทัศนคติที่มองว่า “ชุดว่ายน้ำเล็กลง รองเท้าส้นสูงสูงขึ้น และเรตติ้งก็พุ่งขึ้นด้วย” ทำให้เวทีนี้สิ้นความขลังและกลายเป็นเวทีทุนนิยมที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิง พร้อมส่งต่อมาตรฐานความสวยสมัยใหม่ของอเมริกาไปทั่วโลก
อีกทั้งหากย้อนดูในยุคทรัมป์ 1997-2014 จะเห็นได้ว่าผู้ชนะส่วนใหญ่มักเป็นสาวงามจากประเทศแถบลาตินอเมริกาถึง 13 คน ภายในระยะเวลา เพียง 17 ปี พร้อมกันนั้นยังมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับ รัสเซีย มิสยูนิเวิร์สปี 2013 ถูกจัดขึ้นที่กรุงมอสโก ทำให้ทรัมป์ใช้โอกาสนี้ทำธุรกิจกับ Aras Agalarov มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย จนมีข่าวลือในช่วง 2017 ว่าการจัดงานในรัสเซียครั้งนั้น ทรัมป์เคยพยายามติดต่อวลาดิเมียร์ ปูติน และทำข้อตกลงกันจนชนะการเลือกตั้งในปี 2016
ต่อมาภายหลังจากที่ทรัมป์เดินหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมือง ละทิ้งสาวงามไปแล้ว ทำให้อำนาจความงามบนเวทีนี้ปรับหน้าตาให้เปิดรับความงามที่หลากหลายมากขึ้นตามสังคมอเมริกาที่ขึ้นชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ตามที่กระแสสังคมเรียกร้อง
สายสะพายซอฟต์พาวเวอร์
อย่างไรก็ตาม อำนาจว่าด้วยความงาม ที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ก็เคลื่อนไปมาอยู่ตลอด ทั้งจากผู้ประกวดเองที่พยายามต่อต้านมาตรฐานความสวยสไตล์อเมริกา ไปจนถึงประเทศต่าง ๆ ที่ใช้เวทีนี้ในการแสดง อำนาจ บางอย่างของตนเอง ผ่านการเป็นเจ้าภาพสนับสนุน
อาทิ ในปี 1987 ที่สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานมิสยูนิเวิร์สครั้งแรก โดยคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ซึ่งช่วยเปิดให้ทั่วโลกได้เห็นถึง ความเป็นสิงคโปร์ ผ่าน Parade of Nations ที่เหล่าหญิงสาวจะสวมชุดเกบาย่าของสายการบิน Singapore Airlines มาเดินขบวน ร่วมกับผู้เข้าแข่งขัน คณะเชิดสิงโตด้วยความรื่นเริง พร้อมด้วยวิดีโอพรีเซนเทชั่นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของสิงคโปร์
หรือในปี 2006 หลังเกิดเหตุสึนามิที่ภูเก็ต รัฐบาลไทยตัดสินใจเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง เพื่อเรียกคะแนนความนิยมของไทยคืนมา โดยทักษิณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น กล่าวในรายการ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน” ว่า “การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประกวดนางงามจักรวาล ได้ผลดีมากในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ถือว่าคุ้มมาก”
เพราะ ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวไว้ว่า ในวันถ่ายทอดสดรอบตัดสิน ทางเจ้าของลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สขยายเวลาช่วงสารคดีเกี่ยวกับประเทศไทย หลังเจอเหตุการณ์สึนามิ เพิ่มจาก 12 นาที เป็น 22 นาที ด้วยงบเพียง 255 ล้านบาท แต่กลับมีคนดูถึง 800 ล้านคน แทนการใช้งบถึง 4,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้คนดูในจำนวนเท่ากัน
รวมถึง ช่วงก่อนหน้านี้ที่ลิขสิทธิ์เดินทางมาถึง แอน จักรพงษ์ ที่พร้อมจะดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านการประกวด แต่ในปี 2023 เจ้าภาพหลักอย่าง เอลซัลวาดอร์ จัดทำวิดีโอพรีเซนเทชั่นประกาศว่าจะเป็นเจ้าภาพคนต่อไปในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2023 เสนอภาพทิวทัศน์สวยงามของประเทศ พร้อมประกาศว่าเอซัลวาดอร์เข้าสู่ภาวะสงบสุขแล้วหลังจากมีภาพลักษณ์ด้านอาชญากรรมมานาน เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยว เปิดประตูกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้ประเทศไปถึง 177 ล้านดอลลาร์
เพราะสาวงาม คือ ตัวแทนประเทศ
อีกหนึ่งช่วงที่จะให้เหล่าหญิงสาวจากประเทศต่าง ๆ ได้แสดงความเป็นประเทศของตัวเอง คือ ช่วงชุดประจำชาติ โดยที่ผ่านมาที่แทรกซึมผ่านหน้าความอลังการ ทำให้แฟนนางงามและผู้คนทั่วโลกรับรู้ถึง เอกลักษณ์ อัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ อย่างไม่ทันระวังตัว ผ่านเส้นใยผ้าและความสามารถขงอสาวงามที่แต่ละคนพยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศอย่างเต็มความสามารถ เช่น ในปี2023 ที่แอนโทเนีย โพซิ้ว สวมใส่ชุดพระแม่ธรณีมอวดความงามจรดปลายเส้นผม หรืออย่างชุดสยามมานุสตรีในปีนี้ที่โอปอลใส่ในปีนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการรำลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุริโยทัย-วีรสตรีแห่งสยามได้เป็นอย่างดี
หรือแม้กระทั่งกิริยาเล็ก ๆ บนเวที ซึ่งตัวอย่างหนึ่งจะเห็นได้ว่า แทบทุกครั้ง นางงามไทย มักจะ ไหว้ ทุกอย่างรอบตัวอยู่เสมอ สร้างภาพ สร้างความเข้าใจให้ทั่วโลกรับรู้ถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย
ทว่าในปี2023 เชย์นิส ปาลาซิโอส Miss Universe 2023 สาวงามคนแรกจากนิการากัวยังทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงรัฐบาลเผด็จการในนิการากัว เพียงเพราะเธอเคยผ่านการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมาก่อน แม้ชุดของเธอจะสื่อถึงธงชาตินิการากัว แต่กลับต้องถูกตราว่าสื่อถึงพรรคฝ่ายค้าน รอบชุดประจำชาติจึงเป็นอีกหนึ่งรอบที่เต็มไปด้วยพื้นที่ของการแสดงเอกลักษณ์
โดยสรุป มิสยูนิเวิร์ส จึงเป็นเวทีที่ไม่เคยแข่งขันกันส๊วยอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นเวทีการเมืองที่ผู้ชนะอาจได้มากกว่าแค่มงกุฎ เพราะมาพร้อมกับสายสะพายสู่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ผลประโยชน์ทางการเมืองที่เปิดเผยให้เห็นอำนาจของผู้ชนะอย่างไม่ทันระวังตัว
และสุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีกับ โอปอล สุชาตา ช่วงศรี – รองอันดับ 3 Miss Universe Thailand 2024 🙂
…
อ้างอิง
https://voicetv.co.th/read/XACn3cQse#google_vignette
https://www.the101.world/miss-universe-under-wme-img/
https://www.silpa-mag.com/history/article_70893
https://thestandard.co/sheynnis-symbol-of-resistance-to-dictatorship/
https://www.nlb.gov.sg/main/article-detail?cmsuuid=8ac799a9-4610-4fce-a9ad-9b97a25c90ca
https://en.wikipedia.org/wiki/Marlene_Schmidt
สุจิรา อรุณพิพัฒน์. (2550). เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการผลิตนางงาม : กรณีศึกษาการประกวดนางสาวไทย. https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/16369