Skip links

Mida แท็กทีมพาร์ทเนอร์ เปิดตัวสู่อุตสาหกรรมเพลงครบวงจร

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง มีงานเปิดตัว MIDA Entertainment Group ซึ่งเป็นการขยายตัวทางธุรกิจ โดยผนึกกำลังกับพัธมิตรรอบด้าน อาทิเช่น ค่ายเพลงอย่าง ไทบ้าน, เซิ้ง มิวสิก, ค่าย พาราฮัท มิวสิก, ค่าย บ้านสิงห์ มิวสิก และอื่นๆ

รวมถึง บริษัทอุปกรณ์เครื่องเสียง และบริษัทจัดเก็บหรือถือครองลิขสิทธิ์เพลงในเครืออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์เพลงลูกทุ่ง เพื่อชีวิต อินดี้ สตริง ฯลฯ จำนวนทั้งหมดกว่าสองล้านเพลง อีกทั้งยังมีการป้อนผลงานใหม่ๆ จากศิลปินในสังกัดภายใต้ยูนิตที่ชื่อ Uparty

MIDA Entertainment Group ภายใต้การบริหารงานโดย อำนาจ ตันกุริมาน ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดระบบการดูแลลิขสิทธิ์ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งสถานประกอบการ บริษัทจัดเก็บและผู้ถือครองลิขสิทธิ์ รวมถึงผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลง โดย อำนาจ ตันกุริมาน ได้กล่าวไว้ในงานเปิดตัวว่า เรามีประสบการณ์ในหลายๆ ด้าน เราทำงานบนพื้นฐานของความถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย “เราจะไม่มีศัตรู” และในอนาคตเมื่อเราแข็งแรง เราก็จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ ยังมีการสนธิกำลังกับ ไทบ้านสตูดิโอ และ เซิ้ง มิวสิก รวมถึงบริษัท บ้านสิงห์แฟมิลี่ ซึ่งเป็นตัวแทนของค่ายเพลงฝั่งอีสานอินดี้ ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ MIDA Entertainment Group

 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท พาราฮัท มิวสิก ซึ่งมี ทิวากร แก้วบุญส่ง เป็นกรรมการผู้บริหาร และเป็นตัวแทนจากแดนปักษ์ใต้ โดย ทิวากร ได้กล่าวถึงการร่วมงานกับ MIDA Entertainment Group ไว้ว่า ผมเป็นตัวแทนพี่น้องจากปักษ์ใต้ ผมร่วมงานกับ MIDA มาสองปีกว่า ทั้งเรื่องการดูแลผลงานเพลง และการจัดกิจกรรม เพราะตอนนี้ที่ปักษ์ใต้มีปัญหาเรื่องการจับลิขสิทธิ์ มีน้องๆ หลายคนที่โดนทำลายความฝันไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเราสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งยังเป็นการเอื้อเฟื้อแก่พี่น้องชาวปักษ์ใต้ด้วย

มากไปกว่านั้น MIDA Entertainment Group ยังประกอบกับบริษัท เอสอาร์ มิวสิค แอนด์ ซาวด์ และบริษัท PETCHSIAM SOUND GROUP เพื่อดูแลเรื่องการจัดเก็บลิขสิทธิ์และอุปกรณ์เครื่องเสียง รวมถึงมีการควบรวมบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์บางแห่งมาไว้ใต้ชายคาด้วย

โดยไฮไลท์สำคัญภายในงานเปิดตัว MIDA Entertainment Group คือการเข้ามาร่วมงานกับ สุรชาติ สมบัติเจริญ ทายาทตำนานศิลปินลูกทุ่ง ครูสุรพล สมบัติเจริญ ที่ได้นำลิขสิทธิ์เพลงของครูสุรพลจำนวนหนึ่ง มาให้ MIDA ช่วยดูแล

ยังไม่หมดแค่นั้น ภายใต้ MIDA Entertainment Group  ยังมียูนิต Uparty ค่ายเพลงน้องใหม่ที่ดูแลศิลปินในสังกัด อาทิ จินน้อย, อาร์ตี้, สิงห์ทอง, ฮันแนว และโปรเจ็กต์อื่นๆ อีกมากมายที่จะนำสู่ตลาดในไม่ช้า

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นับว่าสอดคล้องกับนโยบายของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ที่ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวเรื่องการเสนอแก้ไขกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์เพลง เนื่องจากบริษัทจัดเก็บลิขสิทธ์ในประเทศไทย มีมากกว่า 35 แห่ง จึงก่อให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บลิขสิทธ์ที่ไร้เอกภาพ เกิดความซ้ำซ้อน ยุ่งยากต่อการดำเนินการ และนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมต่อหลายฝ่าย

โดยอนุกรรมการฯ ด้านดนตรี เสนอให้มีการควบรวมบริษัทรายย่อยเข้าไว้ด้วยกัน ให้เหลือเพียง 5-6 แห่งเท่านั้น เพื่อให้ระบบลิขสิทธิ์เพลงมีระเบียบ เป็นมาตรฐาน สะดวกต่อการดำเนินการ และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ปัญหาลิขสิทธิ์เพลง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ที่รอคอยการแก้ไขอย่างเป็นจริงเป็นจังมานาน ไม่แน่ว่า เมื่อมีความพยายามจากหลายฝ่ายแล้ว อุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราอาจจะสามารถยกระดับมาตรฐานได้ในเร็ววัน