Skip links

Marry My Husband กับการขับเคลื่อนประเด็นสังคม Toxic ผ่านซีรีส์

เรียกได้ว่าเปิดประเดิมกระแสรับต้นปี 2024 ได้อย่างน่าประทับใจ สำหรับซีรีส์เรื่อง “Marry My Husband สามีคนนี้แจกฟรีให้เธอ”  ที่ออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 67 โดย Nielsen Korea รายงานว่าสามารถทำเรตติ้งในเกาหลีไปได้กว่า 5.2% สำหรับกระแสในประเทศไทยก็ฮอตฮิตไม่แพ้กัน เห็นได้จากการพูดถึงตัวละครหรือบางฉากตอนในเรื่องกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์

ด้วยเนื้อเรื่องที่เปิดฉากมาจาก การที่นางเอกโดนคนรอบข้างเธอ ไม่ว่าจะเป็นสามี  แม่สามี  เพื่อนสนิท  หัวหน้า  และคนที่ทำงาน คอยกดขี่ รังแก ต่อว่า ดูหมิ่น ด้อยค่าและเอาเปรียบเธอสารพัด ทั้งจากคำพูดและการกระทำ พฤติกรรมเหล่านี้หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า  “Gaslighting”  ศัพท์คำนี้เป็นที่พูดถึงอยู่มากในช่วงหลัง  หากแต่ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยที่ตรงตัวนัก

โดย Cambridge Dictionary ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “Gaslighting” ไว้โดยถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เป็นการกระทำที่หลอกลวงหรือบงการผู้อื่น โดยทำให้พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง โดยเฉพาะยิ่งกับการบอกเป็นนัยว่าพวกเขาอาจมีปัญหาทางความคิดจิตใจ”

ทั้งนี้  พล็อตเรื่องได้เล่าถึงตัวละครหลัก ซึ่งย้อนเวลากลับไป และได้โอกาสแก้แค้นกลุ่มคนที่เคย Gaslight  และหักหลังเธอ จนเป็นที่น่าติดตามและเอาใจช่วย จากผู้ชมจำนวนมากว่านางเอกอย่าง “คังจีวอน” ที่แสดงโดย “พัคมินยอง” นั้นจะพลิกโชคชะตาและแก้ไขสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้หรือไม่? อย่างไร?

การหยิบยกประเด็นทางสังคม ที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง ในช่วงหลังอย่าง   Gaslighting  มาสอดแทรก และนำเสนอผ่านซีรีส์เรื่องนี้  ในแง่หนึ่งจึงเสมือนการขัดเกลาความคิดของผู้คนในสังคม ส่วนในอีกแง่ก็เป็นการสื่อสารต่อชาวโลกถึงค่านิยมที่ผู้เขียนบทซีรีส์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอ

เพราะหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เราจะเห็นได้ว่าซีรีส์เกาหลีในระยะหลัง ๆ มักจะหยิบแทรกประเด็นทางสังคม หรือขับเคลื่อนค่านิยมบางอย่างผ่าน  K-Drama จนประสบความสำเร็จได้ในระดับโลก

ซึ่งผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางของเนื้อหาหนัง-ซีรีส์เกาหลี คงต้องยกให้ภาพยนต์ Parasite ที่ออกฉายเมื่อปี 2019 เนื้อหาว่าด้วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ และชนชั้นอันแตกต่างกันของคนรวย-คนจน ซึ่งกวาดรางวัลในระดับสากลไปเป็นกอบเป็นกำ

หรืออย่างซีรีส์เรื่อง Glory ที่ออกอากาศตอนแรกในปี 2022   ก็ได้แทรกประเด็นเรื่อง Bully การกลั่นแกล้ง รังแก ซึ่งเป็นดั่งหลุมดำชีวิตที่ดูดกลืนความปกติสุขของตัวละครหลักไปตั้งแต่วัยมัธยม 

จะเห็นได้ว่า  การนำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม  กระทั่งปัญหาความสัมพันธ์ระดับปัจเจก อย่างในเรื่อง Marry My Husband นี้ก็เข้าเค้าด้วย กล่าวโดยสรุปคือ มีความเป็น Hard Content มากขึ้นใน K-Drama 

ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าเป็นโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจ ในการเผยแพร่ และส่งต่อค่านิยมบางประการผ่าน ซีรีส์ / ภาพยนต์  ที่ไม่ใช่แค่การเผยแพร่วัฒนธรรม อาหาร และการท่องเที่ยว อย่างเดียว หากแต่เป็นการเผยแพร่ถึงค่านิยมบางอย่างไปพร้อมๆ กันด้วย