“รัก..แลก..แจก..แถม” วาเลนไทน์ปีนี้ กทม. เตรียมความพร้อมสำหรับการจดทะเบียนสมรส และ “จดแจ้งชีวิตคู่” สำหรับกลุ่ม LGBTQI+ ที่ 50 สำนักงานเขตทั่วกรุงเทพ มหานคร ด้วยชื่อแคมเปญ “รัก..แลก..แจก..แถม”
โดยผู้ที่เข้าจดทะเบียน / จดแจ้ง ในวันที่ 14 ก.พ. นี้ จะได้รับสิทธิตรวจสุขภาพคู่รักฟรี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ระยะเวลาในการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 15 ส.ค. 2567 กรณีตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือน สามารถรับบริการตรวจครรภ์ฟรี
อย่างไรก็ดี กิจกรรม “จดแจ้งชีวิตคู่” สำหรับกลุ่ม LGBTQI+ นี้ มิได้มีผลทางกฏหมาย เนื่องจากกฎหมายแม่ หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมยังไม่มีผลประกาศใช้ หากแต่เป็นการแสดงเจตนารมย์ที่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงแสดงความพร้อมสำหรับการดำเนินการ เพราะหาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ประกาศใช้เมื่อไหร่ กทม. พร้อมจัดการให้ทันที
สามารถลงทะเบียนจดแจ้ง / จดทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ :
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScRQiLXPXbyJZp3-17WjjukAfVg1j3ERFMjEqCELyCtfSHQag/viewform
แล้วตอนนี้ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” อยู่ในขั้นตอนไหน?
หลังจากที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งมีผู้เสนอทั้งหมด 4 ฉบับ (ฉบับประชาชน, ฉบับพรรคก้าวไกล, ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ และฉบับ ครม.) ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาในวาระแรก และมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ
จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณารายละเอียดของทั้ง 4 ร่าง หรือปรับปรุงแก้ไข (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนนี้) ก่อนจะเสนอกลับให้ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ และยื่นเสนอต่อวุฒิสภาในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีการประกาศใช้เมื่อไหร่ จะทำให้คู่รัก LGBTQI+ ได้รับสิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรส รวมไปถึงการตัดสินใจแทนกันทางการแพทย์ โดยทั้งหมดนี้คือ สิทธิในการเป็นคู่รักกันอย่างเท่าเทียม
กระนั้นก็ตาม ในทางกฏหมายก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในหลายประเด็น ทั้งเกณฑ์อายุที่จะแต่งงานกันได้ การหย่าร้าง หรือการเปลี่ยนคำจาก “บิดา-มารดา” เป็น “บุพการี” ซึ่งส่งผลกระทบต่อกฏหมายกว่า 50 ฉบับ และประเด็นอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความรอบคอบในการพิจารณา
โดยคาดว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะประกาศใช้ได้อย่างเร็วที่สุดก็ปลายปี 2567 นี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลานานกว่านั้น
ทั้งนี้ หากประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมได้เมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านกฎหมาย LGBTQI+ ได้สำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกหรือไม่? คนไทยจะเป็นคนแรกหรือเปล่า? อีกไม่นานคงได้รู้กัน…