ที่มาของคำว่า “ยิ้มสยาม” หรือ “สยามเมืองยิ้ม” (ไม่ว่าจะใช้คำไหนก็ตาม) ไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดว่าเริ่มต้นมาแต่เมื่อใด หรือว่าใครเป็นผู้บัญญัติ
แต่สำหรับประเด็นนี้ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เคยเขียนถึงไว้ในบทความ “ยิ้มสยามคือยิ้มให้ใคร? เรายิ้มอย่างไทยหรือยิ้มเพื่ออะไรกันแน่?” ซึ่งเผยใน The Matter เมื่อปี 2559 โดยสรุปความได้ว่า หลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลไทยขณะนั้นเลือกเข้าข้าง “ฝรั่ง” มากกว่า ทำให้มีชาวตะวันตกเข้ามายังประเทศไทยเยอะขึ้น และเป็นพวกฝรั่งนั่นเองที่เรียกเราว่า “สยามเมืองยิ้ม”
ทั้งนี้ ศิริพจน์ ยังเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ที่ถูกอ้างถึงบ่อยๆ ในสมมุติฐานนี้คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ผู้เคยอธิบายเรื่อง “สยามเมืองยิ้ม” ไว้ที่คอลัมน์ประจำของตน ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า เนื่องเพราะคนไทยไม่สามารถโต้ตอบฝรั่งได้ด้วยภาษาอังกฤษ ทำได้เพียงยิ้มแห้งๆ แบบไปต่อไม่ถูก พวกฝรั่งตาน้ำข้าวก็ไม่เข้าใจว่า …พวกยูยิ้มให้ไอทำไม? จึงทำให้ฝรั่งเรียกอาการดังกล่าวว่า “ยิ้มสยาม”
สมมุติฐานข้างต้นนี้แม้จะมีมูลอยู่บ้าง ทว่าจะจริงแท้แค่ไหนก็มิอาจทราบได้ เพราะฝรั่งในยุคกระโน้นคงไม่เหลืออยู่ให้ซักถามเสียแล้วกระมัง
อย่างไรก็ดี คำว่า “สยามเมืองยิ้ม” หรือ “ยิ้มสยาม” ปรากฏพบว่าถูกใช้เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวไทยครั้งแรกในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการในยุค พ.ศ. 2500 ต้นๆ
โดยในประเด็นนี้ ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต นักวิจัยอิสระระบุว่า หลังจากที่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 อันส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว จึงทำให้คำว่า “สยามเมืองยิ้ม” หรือ “ยิ้มสยาม” ถูกใช้เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว โดยมีการใช้ อนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งเป็นนิตยสารท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นพร้อมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.) เป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้คนไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย “รอยยิ้ม” ที่ดูเป็นมิตรเข้าถึงง่าย สร้างความรู้สึกปลอดภัย ยินดีพร้อมให้บริการ เฉพาะยิ่งกับ “ชาวอเมริกัน”
เนื่องเพราะวิสัยทัศน์ของ ‘พี่ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย’ อย่างสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้น เป็นกังวลเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลกตาม ‘ทฤษฎีโดมิโน’ กล่าวคือ เมื่อมีประเทศใดกลายสภาพเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ประเทศใกล้เคียงก็จะพลอยล้มตัวเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับ จีน เกาหลีเหนือ และเวียดนามเหนือ เปรียบเสมือนการล้มตัวของ ‘โดมิโน’ ซึ่งหมายถึงการล้มครืนของ ‘ประชาธิปไตย’
และเนื่องจากประเทศไทยในศักราชนั้น ถือว่าเป็นยุทธภูมิที่เหมาะแก่การหยุดทฤษฎีโดมิโน ด้วยเพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพมากกว่าเพื่อนบ้านซึ่งขณะนั้นยังกระท่อนกระแท่นกันอยู่ และถึงแม้ประเทศไทยภายใต้อำนาจของ ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ จะเป็นเผด็จการแบบเต็มใบ แต่กระนั้นก็มั่นคงพอให้สหรัฐมาลงหลักปักฐานเพื่อทำภารกิจทางการทหาร
ฉะนั้นแล้ว การเช็คแฮนด์กันของ ‘รัฐบาลไทย’ กับ ‘อเมริกา’ ในห้วงเวลานั้น จึงสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ไทยได้อเมริกามาเป็นแบ็คให้ทั้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง / การทหาร ส่วนอเมริกาได้เข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อปราบคอมมิวนิสต์
เมื่อพิจารณาตามภูมิรัฐศาสตร์โลก สโลแกน “สยามเมืองยิ้ม” , “ยิ้มสยาม” และ “Thailand, The Land of Smile” จึงเป็นสโลแกนที่ “ประดิษฐ์” ขึ้นมาเพื่อต้อนรับต่างชาติที่ไหลบ่ามาสู่ไทยมากขึ้น อันเป็นผลกระทบจากสายธารแห่งการเมืองโลก และหากกล่าวในอีกทางหนึ่ง สโลแกนนี้ก็เป็นการกล่อมเกลาชาวไทยให้ยิ้มเข้าไว้เมื่อเจอต่างชาติ แล้วทีนี้พอพูดบ่อยเข้า รบเร้าบ่อยขึ้น ไปๆ มาๆ คนไทยก็ยิ่งยิ้มกันอย่างไม่มีความหมายเข้าไปใหญ่ ยามต้องประจันหน้ากับฝรั่ง
แต่ถึงอย่างไรเถอะ ไม่ว่าคนไทยจะยิ้มแบบไหน จะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ทว่าในแง่ของการสร้าง Soft Power ของไทย (ซื่งไม่รู้ว่าแต่เดิมตั้งใจให้เป็น Soft power หรือเปล่าอะนะ) ก็ทำให้คนไทยทั้งชาติพร้อมใจกันยิ้มมมมม… ตามนโยบายของรัฐได้สำเร็จ กระทั่งจับพลัดจับผลูเป็น Soft Power ของไทยที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั้งโลก ถึงขั้นต่างชาติยังยกย่องให้เป็น Land of Smile อย่างแทร่จริง
ซึ่งนั่นคือนโยบายเมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่นับว่าประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย แต่พอมาถึง พ.ศ. นี้ เราจะมีหน่วยงานที่อุทิศตัวทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือว่า เราจะดึงความเป็นตัวตนของคนไทยในรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นปัจจุบัน มาผลักดัน หรือต่อยอดความสำเร็จนี้ ขยี้มันเข้าไป สะกดจิตคนไทยทั้งประเทศให้กลับมาเป็น “ยิ้มสยาม” กันอีกครั้งได้หรือไม่? รอนะครับรอ เตรียมเหงือกกันเอาไว้ได้เลย
อ้างอิง :
http://www.thaipoet.net/index.php?lay=show&ac=article…
https://thematter.co/thinkers/land-of-smile/4076…
https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2450195