Skip links

จากเกาหลีสู่ลาตินอเมริกา ก้าวต่อไปของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลี?

 

การพัดพามาถึงของกระแสฮันรยู (Hallyu: 한류) ในพื้นที่เอเชียเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทั้งในแง่ของระยะทางและสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยส่วนใหญ่แล้ว การศึกษาเชิงวิชาการและบทความต่างๆ จะมุ่งเน้นไปในพื้นที่เอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย อินโด มาเล

.

ทว่า ในช่วงระยะหลังมานี้เราเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นว่า กระแสฮันรยู ไม่ได้หยุดอยู่แค่เอเชีย แต่ยังเดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร ข้ามวัฒนธรรม ไปถึง “ลาตินอเมริกา”

.

จากสถิติของทวิตเตอร์ ในปี 2021 เปิดเผยว่าสถิติประเทศที่ทวีตเกี่ยวกับ เค-ป๊อปมากที่สุด 20 อันดับ กว่า 7 ประเทศล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลาตินอเมริกา ได้แก่ อันดับ6 เม็กซิโก / อันดับ8 บราซิล / อันดับ11 เปรู / อันดับ12 อาร์เจนตินา / อันดับ15 ชิลี / อันดับ16 โคลอมเบียและอันดับ19 เอกวาดอร์ 

.

ส่วนในปี 2022 ประเทศที่ทวีตเกี่ยวกับ เค-คอนเทนต์มากที่สุด 20 อันดับ ก็มีประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลาตินอเมริกาถึง 4 ประเทศ  ได้แก่ อันดับ8 บราซิล / อันดับ11 เม็กซิโก / อันดับ18 ตุรเคียและอันดับ20 เปรู

แล้วกระแสนี้พัดไปไกลขนาดนั้นได้ยังไง ?

ถ้าเป็นในไทยหากพูดถึงเทคโนโลยี ญี่ปุ่น แต่ถ้าในแถบอเมริกาใต้ เกาหลีใต้ เนื่องจากในช่วง 1905 ชาวเกาหลีพลัดถิ่น ทำให้หลังจากนั้น มีสินค้าเกาหลีเข้าสู่ตลาดลาตินอเมริกาจำนวนมาก สร้างภาพลักษณ์ให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปูพื้น

.

อีกทั้งในมุมมองของผู้คนในพื้นที่ ยังมองว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก และยังเป็นประเทศในช่วงหลังอาณานิคมที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองโชกโชน ซึ่งช่วยประกอบร่างความเป็นสมัยให้เกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี  

.

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักทีทำให้กระแสฮันรยูประสบความสำเร็จทุกพื้นที่ในโลก รวมถึงลาตินอเมริกา คือ การเดินหน้าส่งออกวัฒนธรรมในฐานะสินค้า ผ่านสื่อบันเทิง ภายใต้นโยบาย Hallyu Industry Support Development Plan เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในช่วงฟุตบอลโลกปี 2002

.

ในช่วงนั้น รัฐบาลเลือกส่งออก “ซีรีส์เกาหลี” ไปยังหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างที่เราทราบกันดี แต่อีกหนึ่งพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง คือ การที่สถานทูตเกาหลีใต้เองก็ส่งซีรีส์ในละตินอเมริกาส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ลาตินอเมริกาหลายเรื่อง เช่น All About Eve, A Wish Upon a Star และ Winter Sonata ซึ่งต่างได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี เนื่องจาก ซีรีส์เกาหลีมีพล็อตแปลกใหม่ ทำให้ผู้ชมชื่นชอบเป็นอย่างมาก

.

“ซีรีส์เกาหลี” จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเปิดทางให้สินค้าวัฒนธรรมชิ้นต่อไปอย่าาง “K-pop” ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งภาครัฐและค่ายเพลงต่างก็ให้ความสนใจตลาดในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ช่วง 2013 จึงมีศิลปินชื่อดังหลายกลุ่มมาแสดงคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น Super Junior หรือ Bigbang ต่างก็เคยมาแสดงให้แฟนๆ ชาวลาตินอเมริกากว่า 13,000 คนมาแล้ว

.

ด้วยความแปลกใหม่ของแนวเพลง K-pop ทำให้ภาครัฐและค่ายเพลงเล็งเห็นความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ จึงพยายามบุกตลาดนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ ทั้งปล่อยเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงแนวลาติน เช่น Hola Hola – KARD (2017), O Sole Mio – SF9 (2017) 

.

หรือร่วมร้องเพลงกับศิลปินระดับท็อปแห่งลาตินอเมริกาอย่าง เช่น Lo Siento-Super Junior Ft.Leslie Grace (2018), Vente Pa’ Ca – Ricky Martin ft. Wendy of Red Velvet รวมไปถึงเพลงดังอย่าง IDOL – BTS (2018) ก็ยังถูกเขียนโดย Ali Tamposi ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง “Havana” และยังเคยมีการจัดงานประกาศรางวัลปลายปีอย่าง KCON 2017 ครั้งแรกในเม็กซิโกมาแล้ว

.

ตลาดเพลงภาษาสเปนและลาตินอเมริกาจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีฐานความนิยมรองรับ เนื่องจาก ภาษาสเปน เป็นหนึ่งในภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะ เพลงแนวลาตินป๊อป / เร็กเก้ ที่มีดนตรีสนุกสนาน เข้ากันได้ดีกับเพลง K-pop การทำเพลงหรือแต่งเพลงที่มีกลิ่นไอลาติน แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการบุกฐานแฟนในพื้นที่นี้เป็นอย่างมาก

.

ในปี 2023 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวจึงจัดการประชุมร่วมกับตัวทนจากค่ายเพลงใหญ่ต่างๆ ทั้ง HYBE , SM Entertainment, YG Entertainment, JYP, CJ ENM Music เพื่อหาแนวทางในการผลักดันเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแแนวโน้มการเติบโตของเพลงลาตินอเมริกาและ K-pop เริ่มสูงขึ้นในขณะที่ตลาด K-pop ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มอิ่มตัว

.

ในเวลาต่อมา CJ ENM และ HYBE ก็ตอบรับแนวทางนี้ของทางภาครัฐด้วยการเตรียมเปิดบริษัท เพื่อออดิชันหาศิลปินในเม็กซิโก ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจของวงการ K-pop เป็นอย่างมากที่มีการเปิดบริษัทในอีกฟากโลก

.

เป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายสร้างวัฒนธรรมเป็นสินค้าของเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในขณะนี้ แต่ถ้าเทียบกับในโซนเอเชียและเแอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระแสฮันรยูในพื้นที่ลาตินอเมริกายังถือว่าเติบโตได้อีกมาก การเดินหน้าบุกตลาดนี้จึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและค่ายเพลงกำลังพยายามอย่างหนัก เพื่อเป็นหนึ่งในเส้นทางที่จะส่งอิทธิพลไป “ทั่วโลก” อย่างแท้จริง

ก็แอบสงสัยเหมือนกันว่า ถ้าในอนาคต หากซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีถึงจุดอิ่มตัว พาวเวอร์ของเกาหลีจะเป็นอย่างไรต่อไป จะสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ใหม่หรือจะมีประเทศใดมีซอฟต์พาวเวอร์ใหม่มาแข่งกับเกาหลีได้ไหมนะ?

อ้างอิง

BENJAMIN HAN. (2017). K-Pop in Latin America:Transcultural Fandom and Digital Mediation.

https://www.uscannenbergmedia.com/…/latinos-and-k-pop…/

https://world.time.com/…/forget-politics-lets-dance…/

https://www.forbes.com/…/k-pop-turns-towards-latin…/…

https://n.news.naver.com/article/008/0004866328?sid=103

https://m.koreatimes.co.kr/pages/article.asp?newsIdx=330218