คนไทยไม่กินอาหารเย็น ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง อาหารในมื้อเย็น เพื่ออดอาหารลดน้ำหนักแบบ IF แต่อาหารเย็นที่เราจะพูดถึงเป็นอาหารเย็นที่อุณหภูมิ
เพราะ ถ้าไม่นับอาหารว่างอย่าง “ข้าวแช่” และ “แตงโมปลาแห้ง” ที่เป็นพระเอกประจำฤดูนี้ รวมถึงขนมหวานคลายร้อนอื่นๆ อย่างข้าวเหนียวมะม่วง ผลไม้ลอยแก้วแล้ว ไทยก็แทบจะไม่มี “เมนูคาว” ที่ทานแบบ “เย็นๆ” เพื่อดับร้อนเลย
เมื่อพูดถึงอาหารคาวที่ต้องทานแบบเย็นๆ ในหน้าร้อน เท่าที่ทราบทางฝั่งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีจะมีเมนู “หมี่เย็น” ที่เป็นเมนูอาหารจานหลักประจำหน้าร้อน โดยจะนำเส้นหมี่ต้มสุกไปผ่านน้ำเย็น จากนั้นนำไปคลุกซอส หรือปรุงรสเพิ่มเล็กน้อย เพื่อความกลมกล่อม
เมนู “หมี่เย็น” ในจีนจะเรียกว่า “เหลียงเมี่ยน” เล่ากันว่า ในสมัยราชวงศ์ถัง พระนางบูเช็คเทียน จักรพรรดินีเพียงองค์เดียวของจีน ในวัย 14 ปี มีเพื่อนสนิทชายคนหนึ่งชื่อ “เจี้ยนเฟิง” ทั้งสองมักจะเที่ยวเล่นบริเวณริมน้ำและแวะพักกินบะหมี่ที่ร้านในละแวกนั้น
จนวันหนึ่งในฤดูร้อน ทั้งสองอยากกิน “หมี่เย็น” จึงลองเสนอให้เจ้าของร้านลองทำ จนออกมาเป็น”หมี่เย็นคู่สามีภรรยา” แม้ทั้งสองจะไม่ได้เป็นสามีภรรยากันจริง แต่พ่อครัวหลวงก็ถูกรับสั่งให้ถวายหมี่เย็น “ต้นตำรับจักรพรรดินี” ให้พระนางในวันคล้ายวันพระราชสมภพของทุกปี
วัฒนธรรมการกินอาหารประเภทเส้นจากจีนเดินทางไปยัง ญี่ปุ่น ตั้งแต่ยุคนารา-ยุคเฮอัน ซึ่งตรงกับราชวงศ์ถังของจีน โดยในช่วงแรกเป็นอาหารที่กินกันเฉพาะโอกาสพิเศษในวัง กว่าจะได้รับความนิยมทั่วญี่ปุ่นก็อยู่ในยุคเอโดะแล้ว จนเกิดเป็นเมนูโซเมง โซบะ อุด้ง ที่นิยมนำมาใส่น้ำแข็งทานในปัจจุบัน
ส่วนทางเกาหลีใต้ก็มีเมนูหมี่เย็น ชื่อว่า “แน็งมย็อน” โดยเอกสารสมัยศตวรรษที่ 19 ระบุว่า แน็งมย็อน ได้รับอิทธิพลมาจากเมนูอาหารเกาหลีเหนือชื่อ “แร็งมย็อน” ซึ่งเมนูนี้ปรากฎในเกาหลีใต้มาตั้งแต่สมัยโชซ็อน แต่มาได้รับความนิยมทั่วคาบสมุทรเกาหลี หลังเกิดสงครามเกาหลีขึ้น
เดิมที “แน็งมย็อน” เป็นเมนูสำหรับฤดูหนาว เนื่องจากตัวเส้นหมี่ ทำมาจาก “บักวีต” ซึ่งเหมาะแก่การทานในอุณหภูมิเย็นมากกว่า เพราะจะช่วยให้เส้นเหนียวนุ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบัน แน็งมย็อน ได้รับความนิยมในช่วงหน้าร้อนด้วย โดยการใส่น้ำแข็งแทนเช่นกันกับญี่ปุ่น
จะเห็นได้ว่า อาหาร เป็นสิ่งที่โยงใยกับวัฒนธรรม เมนูอาหารเย็นทั้ง ข้าวแช่ และ หมี่เย็น จึงเป็นการนำเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่กินกันเป็นประจำอย่าง เส้น และ ข้าว มาดัดแปลงกลายเป็นเมนูดับร้อน
คำถามที่ว่าแล้วทำไมไทยถึงไม่กินอาหารคาวแบบเย็น ๆ จึงอาจจะเป็นเรื่องที่โยงอยู่กับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้คนด้วยเช่นกัน
เพราะ เมื่อ ไทย เป็นเมืองร้อน เราก็จะไม่ได้มีภาพการกินอาหารคาวแบบเย็นๆ แบบในฤดูหนาว หรือ กินอาหารน้ำแข็งมาตั้งแต่แรก เมนูอาหารคาวที่ต้องกินแบบเย็นๆ จึงไม่เกิดขึ้น
ต่างจากในจีน ญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีฤดูหนาวอย่างชัดเจน ทำให้เกิดวัฒนธรรมการกินหมี่เย็นที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในฤดูหนาวในฤดูร้อน
ในช่วง ร.4 เพิ่งเริ่มมีการนำเข้า “น้ำแข็ง” จากสิงคโปร์ ซึ่งตามหนังสือ ‘ฟื้นความหลัง’ ของพระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) น้ำแข็งที่ถูกนำเข้ามาไทย ยังถูกมองว่าเป็นของแปลก แม้จะจัดวางแสดงในพิพิธภัณฑสถาน แต่น้ำแข็งก็ยังไม่ได้รับความนิยม ทั้งยังมองว่าเป็นของแสลงและยังมองว่า ถ้ากินเข้าไปแล้วจะ “ร้อน” ซึ่งยังคงผูกโยงกับ “ความร้อน” อยู่ดี
“ชาวบ้านชั้นผู้ใหญ่ห้ามเด็กไม่ให้กิน บอกว่าแสลง กินเข้าไปแล้วร้อน เห็นจะหมายถึงว่าร้อนใน หาว่ามันใส่ยาอะไรก็ไม่รู้ จึงทำให้น้ำแข็ง”
กว่าน้ำแข็งจะได้รับความนิยมกว่าล่วงเลยมาถึงช่วง ร.5 แต่กระนั้น จนปัจจุบัน เราก็ยังไม่มีอาหารจานหลักอย่างต้มยำกุ้งใส่น้ำแข็งเหมือนหมี่เย็นใส่น้ำแข็งบ้าง
…
อ้างอิง
https://www.creativethailand.org/article-read…
https://www.mendetails.com/…/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8…/
https://krua.co/food_story/history-of-ice-in-thailand
https://www.silpa-mag.com/history/article_51395
https://www.silpa-mag.com/history/article_129377…