Skip links

Coldplay Concert เสิร์ฟดราม่าฉ่ำ พวกแกกำลังทำให้ฉันดูแย่!

เสาร์-อาทิตย์ ( 3 – 4 ก.พ.)  ที่ผ่านมา ใครได้ไปคอนเสิร์ต Coldplay Music Of The Spheres World Tour Bangkok 2024 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน คงอิ่มเอมกับบรรยากาศสุดอลัง และงานโปรดักชั่น แสง สี เสียง แบบฉ่ำๆ นับว่าเป็นคอนเสิร์ตคุณภาพของวงดนตรีฝีมือระดับโลก ที่มาแสดงโชว์ในไทยเป็นครั้งที่ 3 ได้อย่างน่าประทับใจ

แน่นอนว่า เวลามีงานสเกลระดับโลกมาจัดที่บ้านเราเช่นนี้ ก็ย่อมสร้างความอิ่มอกอิ่มใจว่า ประเทศเราพร้อมรองรับงานระดับโลก และพร้อมเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสมต่อการสร้างประสบการณ์อันสวยงาม และความทรงจำดีๆ ร่วมกันระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน

ทั้งนี้ การที่ศิลปินระดับโลกจะเลือกมาแสดงที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ย่อมประเมินจากหลายๆ ปัจจัย อาทิเช่น ฐานแฟนคลับ กำลังซื้อของผู้คนในประเทศนั้น ค่าใช้จ่าย / ค่าแรงในการจัดงาน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ / การเมือง 

แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่การที่งานระดับโลกเลือกมาจัดงานที่ประเทศใดๆ ก็อาจจะสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของชาตินั้นๆ ได้ไม่มากก็น้อย 

และถึงแม้ว่ารายได้หลักของงานลักษณะนี้จะอยู่ที่ตั๋วเข้าชม ซึ่งต่างชาติโกยหอบกลับไปเสียเยอะ ทว่าเม็ดเงินที่สะพัดในแต่ละครั้ง รวมถึงนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ ที่อยากมาร่วมสัมผัสและเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ดังกล่าว ก็ย่อมเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้จัดงาน ซึ่งในบริบทนี้ก็คือ “ไทยแลนด์”

ฟังดูแล้วอาจจะน่าภูมิใจอยู่ไม่น้อย แต่เมื่องานจบ… ความจริงก็ถูกเปิดเผย… 

เนื่องจากมวลชนที่ทะลักล้นออกมากจาก ราชมังฯ เมื่อคอนเสิร์ตเลิกหลักหลายหมื่นคน จนไม่สามารถเรียกหาขนส่งสาธารณะเพื่อเดินทางกลับที่พักได้ สำหรับคนเหล่านี้มีให้เลือกสองทางคือ หนึ่ง ยอมขึ้นมอเตอร์ไซค์ที่มาเทียบรออยู่แล้วใกล้ๆ ซึ่งมีทั้งวินจริงบ้าง วินเถื่อนบ้าง แต่บอกก่อนว่า ค่าบริการนั้นแพงหูฉี่ คือคนขับกะเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืนกันเลยทีเดียว 

กับทางที่สอง คือเดินไปตายเอาดาบหน้า ไปหาเรียกรถไกลๆ เพื่อจะได้ค่าบริการที่ถูกลง แต่ในความรู้สึกก็ไม่ต่างอะไรจากการเดินไปโดยไม่รู้จุดหมาย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจะว่าไปแล้ว ภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้จนชินตา

แต่ครั้นจะบอกว่านี่เป็นความจริงที่ถูกเปิดเผยหลังเลิกงานก็คงไม่ถูกนัก เนื่องเพราะ “คนไทย” ที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตนี้ต่างได้แชร์ประสบการณ์ที่ได้พบเห็น “ของจริง” ตั้งแต่ในงานแล้ว

เพราะแม้งานนี้จะขึ้นชื่อว่า Live in Bangkok ทว่าคงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่า ท่านผู้ชมทั้งหลาย “เกินครึ่ง” ในสองวันนั้น “ไม่ใช่คนไทย” ดั่งที่ผู้ใช้ X ท่านหนี่งว่าไว้ “มองซ้าย มองขวา ทำไมหาคนไทยยากอย่างนี้ นี่มัน Live in Bangkok แบบใดห์” หรือ “อยากตะโกนถามกลุ่มข้างๆ ว่า ‘คุณพี่เป็นคนจังหวัดอะไรคะะ!!’ ”

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การกีดกันทางเชื้อชาติ แต่จากคำบอกเล่าของ “คนไทย” ในงานที่ได้แบ่งปันประสบการณ์แย่ๆ ไว้ เช่น เรื่องการควบคุมพืชกัญชาในงาน เนื่องจากมีสายเขียวบางรายใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสนามสันทนาการ ซึ่งได้แบ่งปันความร่าเริงมึนเมา ออกมาในรูปแบบของควันหลงแก่คนรอบข้าง โดยที่คนอื่นมิได้อภิรมย์สมยอม

หรือที่น่าน้อยเนื้อต่ำใจแก่พี่น้องชาวไทยที่ซื้อบัตรคือ กิจกรรมสุ่มผู้โชคดี หรือ Lucky Fan ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษในการใกล้ชิดกับสมาชิกวง Coldplay บนเวที แต่ปรากฏว่าผู้โชคดีในงานนี้ก็ดันเป็นคนจีนซะอย่างงั้น แถม Chris Martin ฟรอนต์แมนของวงก็ยังกล่าวขอบคุณชาวจีนก่อนชาวไทยเสียอีก งานนี้คนไทยบอกได้คำเดียวเลยว่า “นอยด์อ่ะ”

เรื่องยังไม่จบแค่นี้ ยังมี “ริสต์แบนด์” หรือ “สายรัดข้อมือ” ที่ต้องใส่เข้าร่วมงาน ซึ่งเมื่อการแสดงจบลง ทางผู้จัดขอความร่วมมือให้นำมาคืนเพื่อนำไปใช้ต่อในคอนเสิร์ตครั้งต่อๆ ไป ตามแนวทางการจัดคอนเสิร์ตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทุกครั้งที่งานจบ จะมีการขึ้นตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์การได้รับริสต์แบนด์คืนของแต่ละเมือง

 

โดยเปอร์เซ็นต์การส่งคืนริสต์แบนด์ของแต่ละเมืองมีดังนี้

โตเกียว-ประเทศญี่ปุ่น = 97%

โคเปนเฮเกน-ประเทศเดนมาร์ก = 96%

กัวลาลัมเปอร์-ประเทศมาเลเซีย = 91%

ส่วนเมืองที่มีเปอร์เซ็นต์การส่งคืนริสต์แบนด์น้อยที่สุดในชาร์ทนี้ ได้แก่ 

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย ด้วยคะแนน = 89% 

เมื่ออยู่เป็นบ๊วยของตารางแบบนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยโดยตรง ทว่าหลายคนก็กล่าวว่า ตัวเลขที่ต่ำขนาดนี้ ไม่ใช่ฝีมือของคนไทยเป็นแน่ หากแต่เป็นคนชาติอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมงานแล้วอาจจะมีจิตสำนึกไม่เพียงพอ

ใช่หรือไม่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนส่งสาธารณะ การควบคุมอบายมุข การจัดการระเบียบวินัย มิพักต้องเอ่ยถึงเรื่องราคาบัตรที่สูงลิบ และสัดส่วนของคนไทยผู้เป็นเจ้าบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ควรแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

เพราะหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เรามีการตลาดที่ดีพอจะดึงดูดให้ศิลปินในระดับโลกมาจัดงานที่บ้านเรา แต่ทว่าความสมบูรณ์พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศแวดล้อมที่รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น อาจยังไม่ดีพอ 

และอย่าลืมว่า ปีนี้ยังมีศิลปินระดับโลกต่อแถวรอตบเท้าเข้ามาจัดงานในบ้านเราอีกทั้งปี ทั้ง Bruno Mars, IU หรือแม้แต่ Ed Sheeran ที่จะมาในอีกไม่กี่วันนี้ก็ด้วย ถ้าไม่อยากดูแย่ในสายตาชาวโลก เราก็ควรต้องทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป