Skip links

เปิดตัวบีเบียร์ – คราฟต์เบียร์ฝีมือ “แบมแบม” ไอดอลเกาหลีทำคราฟต์เบียร์ได้ด้วยหรอ?

“แบมแบม” ทดลองเปิดตัว “บีเบียร์ (Bbeer)” – คราฟต์เบียร์ฝีมือแบมแบมที่แอบแง้มโปรเจ็กต์เครื่องดื่มชุ่มคอให้อากาเซ่เห็นตั้งแต่รายการ Bam House Season 1 ทำเอาอิจฉาแขกรับเชิญหลายคนที่ต่างได้ลองดื่มกันไปแล้ว

จนในที่สุด เมื่อวานนี้ (22 เม.ษ.) ก็ถึงตาของอากาเซ่สายดื่มบ้างแล้ว โดยการทดลองเปิดตัวในไทยครั้งนี้ บีเบียร์ มีวางจำหน่ายที่

– San Nae Deul Korean Restaurant เอกมัย

– Kstreat express restaurant จัตุจักร

บีเบียร์ที่ทดลองวางจำหน่ายในไทยทั้งสองพื้นที่ได้รับกระแสตอบรับจากแฟน ๆ ที่ไปรอต่อแถว รับบัตรคิวซื้ออย่างล้นหลาม ทำให้หมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าใครยังไม่ได้ลองก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะ บีเบียร์มีแผนจะวางจำหน่ายที่ 7-11 แน่นอน

สามารถติตตามข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่

IG: @ thesatellitebrewing

 

ตลาดคราฟต์เบียร์ในเกาหลีเป็นยังไง ทำไม “แบมแบม” ทำคราฟต์เบียร์ได้ ?

ภาพไอดอลดื่มเบียร์ หรือเป็นพรีเซ็นเตอร์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติในวงการ แต่ถึงขั้นทำคราฟต์เบียร์เอง อาจเห็นได้ไม่บ่อยนัก

แล้ววงการคราฟต์เบียร์ในเกาหลี เปิดกว้างถึงขนาดที่ไอดอลสามารถทำคราฟต์เบียร์เองได้เลยหรอ?

 

จุดเริ่มต้นตลาดคราฟต์เบียร์ของเกาหลี ไม่ต่างจากไทยมากนัก เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้เองก็มีบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า

ก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคราฟต์เบียร์ในเกาหลีใต้ น่าจะต้องย้อนกลับไปในปี 2009 เกาหลีใต้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อเบียร์นำเข้าในราคาที่เหมาะสมมากขึ้นได้ และเกิดการให้ความสนใจเรื่องความหลากหลายของรสชาติมากขึ้น

เมื่อตลาดเบียร์ต่างชาติที่มีความหลากหลายมากกว่าโซจูและมักกอลลี เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น ในช่วงปี 2011 จึงเริ่มมีการปรับข้อกฎหมายโรงผลิตเบียร์

โดยจากเดิม กฎหมายกำหนดให้โรงเบียร์ต้องผลิตเบียร์มากกว่า 1 ล้านลิตร/ปี จึงจะได้รับใบอนุญาตการผลิต ปรับลดลงเหลือ 150,000 ลิตร/ปี และ 50,000 ลิตร/ปี ในที่สุดในปี 2014

ต่อมาในปี 2020 กฎหมายสุราของเกาหลีใต้มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกครั้งในเรื่อง “การเก็บภาษี”

จากเดิม จะเรียกเก็บภาษีสุราตามมูลค่าต้นทุนการผลิต เปลี่ยนมาเรียกเก็บภาษีตามปริมาณเบียร์ที่ขาย ทำให้สามารถตั้งราคาไม่สูงมาก ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้

 

นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง ยังมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับ “โรงงานผลิตสุรา” ทำให้ในปัจจุบันผู้ผลิตรายย่อยสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นด้วยการจ้างโรงงานผลิต (OEM) หรือร่วมมือกับบริษัทใหญ่อื่น ๆ ได้แล้ว

ด้วยความที่กฎหมายสุราเกาหลีใต้เอื้อต่อการสนับสนุนคราฟท์เบียร์ ในปัจจุบัน ตลาดคราฟท์เบียร์เกาหลีใต้ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก จนเกิดผู้ผลิตหน้าใหม่ในตลาดมากมาย ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้ผลิตคราฟต์เบียร์เองได้

รวมทั้ง “แบมแบม” เองที่สนใจและลงมาอยู่ในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน

 

ในขณะที่ปัจจุบัน “กฎหมายสุราไทย” ยังคงเอื้อต่อนายทุนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ การบรรจุขวด หรือการโปรโมท ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตรายเล็กยังไม่สามารถทำได้ทั้งสิ้น

จึงเป็นอีกครั้งที่ “แพชชัน” ของแบมแบมจำเป็นต้องเริ่มเติบโตในเกาหลี

ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการโปรโมทอย่างที่เราได้เห็นในรายการ Bam House ในยูทูป และเมื่อบีเบียร์เดินทางมาถึงไทย กลับต้องถูกจำกัดพื้นที่ลงอย่างเห็นได้ชัด ทางร้านตัวแทนจำหน่ายและแฟนคลับยังต้องช่วยกันเตือนว่า ไม่ควรลงรูปให้เห็นภาพกระป๋องอย่างชัดเจน และห้ามโพสต์ในลักษณะเชิญชวน ผิดกับที่เกาหลีที่สามารถผลิตและโปรโมทสินค้าได้อย่างอิสระมากกว่า  

 

อ้างอิง

https://www.thebetter.co.th/news/business/16187

https://www.moneybuffalo.in.th/…/why-will-south-korean…

https://asiasociety.org/korea/korea-road-soju-craft-beer

http://koreabizwire.com/delivery-services-of…/160224