Skip links

บางกอกคณิกา โสเภณีสู้ชีวิต ผู้ผลิตสู้กองเซ็นเซอร์

บางกอกคณิกา ซีรีส์เรื่องใหม่ล่าสุดจากช่อง one31 บอกเล่าเรื่องราว การสู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับของอาชีพหญิงโสเภณีย่านสำเพ็งที่ต้องการจะโบกมือลาอาชีพ เพื่อไปทำตามความฝันของตนเอง แต่การจะทำเช่นนั้นกลับไม่ง่าย เพราะสถานะทางสังคมที่ผูกพวกเธอไว้ พวกเธอจึงจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของพวกเธอ

 

“สายตาทุกคู่จงมองมา นี่คือดอกไม้งามที่ราคาแพงที่สุดแห่งหอบุปผาชาติ

See for yourself!”

เปิดเรื่องมาแม่ราตรี เจ้าของสำนักโสเภณีบุปผาชาติ ก็สปีคอิงลิช ทำให้เราสงสัยว่า โสเภณีไทย ในมุมมองต่างชาติสมัยนั้นเป็นอย่างไร ?

การจะตอบคำถามนั้น อาจต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงการก่อตั้ง สำเพ็ง หรือ สามเพ็ง เป็นย่านการค้าของชุมชนชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากบริเวณคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดพื้นที่สำหรับสร้างพระบรมมหาราชวัง ในปีในปีพ.ศ.2325

นับแต่นั้นมา สำเพ็งจึงเต็มไปด้วยชาวจีนหลากหลายเชื้อชาติ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ชาย ย่านการค้าโสเภณีจึงถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นย่านที่มีชื่อเสียง

 

การค้าที่ใหญ่ที่สุดในสยามในช่วงเวลานั้น เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของชาวต่างชาติมากมาย จึงเกิดโรงโสเภณีฝาหรั่งตามมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในแต่ละพื้นที่ จึงไม่ปรากฏแน่ชัดนักว่ามุมมองชาวต่างชาติที่มีต่อโสเภณีไทยเป็นอย่างไร

แต่ก็มีบันทึกไว้ว่าอัตรา “ค่าคอร์ส” ของชาวไทยหรือจีนที่ต้องจ่ายคือ 2 สลึง-1 บาท หรือหากเป็นหญิงโสเภณีชั้นสูงจะต้องจ่ายในราคาถึง 5 บาท หากฝรั่งหรือญี่ปุ่นจะใช้บริการต้องจ่าย 2-4 บาท ซึ่งสูงกว่าชาวไทยหรือจีน

แต่ถ้ามีการกำหนดไว้เช่นนี้ อาจหมายถึงโสเภณีไทยก็มีชื่อเสียงเลื่องลือมานานแล้ว

 

แม้ในสมัยนั้น อาชีพโสเภณีย่านสำเพ็งดูจะเป็นอาชีพที่เปิดเผย มีการจัดเก็บภาษีและพรบ.ป้องกันสัญจรโรค แต่อาชีพนี้ก็ยังคงเป็นอาชีพที่มีสถานะทางสังคมอยู่ล่างสุด เป็นที่รังเกียจของสังคมถึงขั้นที่ว่าห้ามชายแต่งเอาเป็นภรรยา

“เมื่อโสเภณีถูกตีตราให้ต่ำยิ่งกว่าทาส พวกเธอจึงมิอาจได้รับสิทธิ์ความเป็นคน”

 

ละครเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นการกลับมาดูละครไทยในรอบหลายปี เนื่องด้วยพล็อตเรื่องที่น่าสนใจที่นำเสนอเรื่องราวอีกมุมหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานอย่าง “นางคณิกา” หรือโสเภณี มาถ่ายทอดในมิติการต่อสู้เพื่อสิทธิในชีวิตของตนเอง พร้อมสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวไทยสมัยนั้นได้อย่างลงตัว

ทั้งชุดไทย อาหารไทย หรือที่พีคที่สุดก็คงจะเป็นการนำเพลง แสงสุดท้าย ของบอดี้สแลมมา re-arrange ผสานกับดนตรีไทย สำหรับใช้แสดงในโชว์แรกของพวกเธอ เพื่อสื่อถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิในชีวิตของตัวเอง จึงนับได้ว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครได้ดีทีเดียว แม้ในจังหวะแรกจะรู้สึกประดักประเดิดในแง่ของช่วงเวลาเล็กน้อยที่เซ็ตติ้งเรื่องราวไว้ใน พ.ศ.2435 จนแอบสงสัยว่าพี่ตูนแมสมาตั้งนานแล้วเหรอเนี่ยยยย

 

ในแง่ของเนื้อหาละครจึงมีความดาร์กพอสมควร เพราะนำเสนอเรื่องราวของหญิงโสเภณีในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างเปิดกว้าง และหลุดจากกรอบละครประวัติศาสตร์เดิมที่มักจะถ่ายทอดเรื่องราวหญิงไทยตามขนบ

แต่จะกว้างขนาดไหนก็ยังต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของ “กะหรี่” แต่คำว่า “กะหรี่” กลับถูกเซ็นเซอร์ซะงั้น

งานนี้ นอกจากกะหรี่ในเรื่องต้องสู้เพื่อตัวเองแล้ว ช่อง one31 ก็ยังต้อง “ไฝว้” เพื่อตัวเองไปพร้อมกันด้วยการฉายเวอร์ชั่น uncut ในแอปฯ oneD ที่ไม่จำเป็นจะต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ ทำให้สามารถบอกเล่าประเด็นในเนื้อเรื่องได้แบบเข้มข้นมากขึ้นได้

 

ที่ผ่านมา หนังและซีรีส์ที่มีการนำเสนอเนื้อหาแบบติดเรตนั้น ต้องพกความกังวลติดตัวตลอดเวลาเมื่อต้องมาดีเบทกับผู้มีอำนาจในกองเซนเซอร์

ปัจจุบันเมื่อผู้ผลิตมีพื้นที่อิสระในการนำเสนอเนื้อหาของตัวเอง ทำให้การถ่ายทอดเรื่องราวฉบับไดเรกเตอร์คัต นั้นทำออกมาได้ถึงใจคุณผู้ชม อย่างเรื่องบางกอกคณิกานี้ กระแสดีติดเทรนด์ทวิตเตอร์มาตั้งแต่ช่วงปล่อยทีเซอร์ พอฉายจริง 2 EP ก็กลับมาสร้างไวรัลติดเทรนด์ได้อีกครั้ง

ไม่เพียงเท่านั้น พอนำไปอัพลงยูทูบสำหรับแฟนต่างชาติ เพียงแค่ 1 วัน ยอดวิวยังพุ่งไปกว่าเกือบแสน ถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของละครไทยที่กำลังเติบโตไปในทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น และแนวทางความสำเร็จของ “บางกอกคณิกา” นี้ อาจเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะพา “ละครไทยและความเป็นไทยในรูปแบบใหม่” ให้ไปเฉิดฉายในต่างประเทศก็เป็นได้

อ้างอิง

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. 2526. “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503”

https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/66180