“บางกอกคณิกา” ปิดหอบุปผชาติอย่างสวยงามแตะเรตติ้งทั่วประเทศสูงถึง 4.2 ซึ่งถือว่าสูงมากในปัจจุบัน พร้อมกวาดผู้ชมบนทีวีไปกว่า 10.5 ล้านคน ติดเทรนด์ X อันดับ 1 ทั้งเทรนด์โลก ไทยและเวียดนาม
.
ตลอดทั้ง 8 ตอน เรตติ้งก็เรียกว่าไม่ใช่เล่น ๆ และยังสร้างตำนาน สร้างไวรัลจนติดเทรนด์ X อันดับ 1 ไทยในทุกอีพี เราเลยอยากจะพามาย้อนสเน่ห์ “บางกอกคณิกา” ว่าสร้างไวรัลอะไรไว้บ้าง!
…
สเน่ห์แรก คือ การมีเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่เข้มข้น หลากหลายและเปิดกว้างโอบรับไปกับสังคมในปัจจุบัน บางกอกคณิกา เป็นเรื่องราวของโสเภณีที่มีฝันจึงต้องต่อสู้กับระบบทาส ระบบสังคมและระบบกฎหมาย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
.
ภายในเรื่องจึงมีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์และข้อกฎหมายในประวัติศาสตร์ จากหน้าหนังสือมาดัดแปลงจำลองสภาพสังคมและมุมมองของผู้คนที่มีต่อหญิงคณิกาหรือหญิงโสเภณี
.
จนผู้ชมอยากรู้เรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงนอกจอ ตั้งแต่ย้อนรอยตำนานและเข้าสักการะวัดยายแฟง ไปจนถึงการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมาย สิทธิ และชีวิตของผู้หญิงและโสเภณีไทยในอดีต-ปัจจุบัน
.
มากไปกว่านั้น บางกอกคณิกายังไม่ได้สื่อสารเพียงประเด็นโสเภณีเท่านั้น เพราะยังเป็นละครพีเรียดไม่กี่เรื่องที่ไม่ได้มีตัวละคร ‘บัณเฑาะห์’ หรือตัวละครที่เป็น LGBTQIAN+ ไว้เป็นตัวตลก คอยสร้างสีสันให้คนดูเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันและไขปมเรื่อง
.
โดยเฉพาะ ในตอนสุดท้ายที่ทั้งโสเภณีและกลุ่มคนชายขอบที่สังคมมักมองข้ามไม่ว่าจะยุคสมัยใดทั้งผู้พิการ ขอทาน หญิงแพศยา และบัณเฑาะห์ ได้แสดงบทบาทสำคัญขึ้นเป็นพยานในศาลไม่ต่างจากคนอื่นในสังคม
…
สเน่ห์ต่อมา คือ การรวมตัวนักแสดงระดับแนวหน้าของวงการบันเทิงไทยแบบไม่ดูถูกคนดู ไม่ว่าจะเป็นอิงฟ้า วราหะ, ก้อย อรัชพร, ชาร์เลท วาศิตา, นก ฉัตรชัย, อ้อม พิยดา, ต้อม พลวัฒน์ ฯลฯ ที่มาประชันฝีมือกันสุดกำลัง
.
สิ่งที่เซอร์ไพรส์มากที่สุด คือ การรับบทบาทใหม่ในฐานะนักแสดงนำของ “อิงฟ้า วราหะ” มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 และรองอันดับ 1 มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2022 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า “นางงาม” ถือว่าอยู่ภายใต้ร่มซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและแฟนนางงามทั่วโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บทบาทใหม่นี้จึงเป็นอีกหนึ่งจุดที่กลายเป็นไวรัลที่สามารถดึงดูดให้ทั้งแฟนชาวไทยและต่างชาติมาสนใจละครเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
…
อีกหนึ่งสเน่ห์ คือ ความลงตัวของละครแนวพีเรียดโมเดิร์น
แม้ละครเรื่องนี้จะพาย้อนกลับไปสัมผัสสังคมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็มีการผสมผสานจนกลายเป็นละครแนวพีเรียดโมเดิร์นที่ให้กลิ่นอายละครเพลง โดยนำเพลงดังของศิลปินไทยหลากหลายแนว ทั้งร็อค ลูกทุ่ง และ T-pop มาเป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร
.
ไม่ว่าจะเป็นเพลงแสงสุดท้าย / ชีวิตยังคงสวยงาม – Bodyslam, Fire Boy (Fire Girl) – PP Krit, นะหน้าทอง – โจอี้ ภูวศิษฐ์และ ประวัติศาสตร์ – คริสติน่า อากีล่าร์ แถมยังได้มะลิ หรือ “มิลลิ” มาแต่งเพลงประกอบละคร “ปรารถนาเพียงเชื่อ” จนกลายเป็นอีกหนึ่งไวรัลที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต
…
สเน่ห์สุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้ คือ สเน่ห์ปลายจวัก เพราะไม่ว่าจะมีเรื่องทุกข์กายทุกข์ใจ ชาวหอบุปผชาติมักจะปรุงอาหารชนิดหนึ่งให้แก่กันเสมอ นั่นคือ “แกงรัญจวน”
.
“แกงรัญจวน” เป็นอาหารไทยชาววังโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย “หม่อมเจ้าหญิงแย้มเยื้อน สิงหรา” นำเนื้อที่เหลืออยู่ในแกง มาปรุงรสรวมกับน้ำพริกกะปิถ้วยเก่าให้กลายเป็นแกงรัญจวนเย้ายวนใจ สถานะของแกงรัญจวนจึงไม่ต่างจากโสเภณีในสมัยนั้นที่มองดูแล้วเปรียบดั่งดอกไม้งามเย้ายวนใจ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลในฐานะมนุษย์
…
โดยสรุป “บางกอกคณิกา” เป็นละครหลังข่าวน้ำดีอีกหนึ่งเรื่องที่สอดแทรกสเน่ห์ไทยไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ให้โมเดิร์นด้วยบทเพลงสมัยใหม่ นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือ และอาหารไทยรสเลิศ แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งสเน่ห์หลักของละครไทย อย่างการจบเรื่องแบบ “คนดูสะใจ-ตัวร้ายรับกรรม-คนดีเดินตามฝัน” ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งละครไทยที่พร้อมจะเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของซอฟต์ พาวเวอร์ไทย
.
และพอละครจบลง ก็มีข่าวแว่วมาว่าบางกอกคณิกากำลังเตรียมตัวลงสตรีมมิง Netflix เร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะช่วยให้ผู้ชมกว่าร้อยประเทศได้เห็นอีกมุมมองของ “โสเภณีไทย” มากขึ้นได้