Skip links

7 เรื่องราวเบื้องหลัง “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” คว้า 7 รางวัลออสการ์ 2023

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส Everything Everywhere All at Once ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Oscar 2023 ที่ใช้ทุนสร้างราว 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนังแนวเดียวกันที่พูดถึงเรื่องพหุจักรวาลอย่าง Doctor Strange in the Multiverse of Madness ที่มีทุนสร้าง 7 พันล้านบาทแล้ว ผู้กำกับอย่าง แดเนียล ควาน และ แดเนียล ไชเนิร์ท ถึงกับพูดติดตลกว่า พวกเขาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย “งบข้าวกล่อง” ตอนออกกองของค่ายหนังมาร์เวลเท่านั้น
 
หนังเรื่องนี้แม้จะไม่ได้ใช้ทุนสร้างระดับหนังใหญ่ฟอร์มยักษ์ แต่กลับสร้างผลงานที่ประจักษ์เบ้าตาผู้ชมได้อย่างเหนือจินตนาการ แต่ละฉากนั้นดำเนินเรื่องได้ยากเกินการคาดเดา
 
จากผลงานที่โดดเด่นจนเกินต้านนี้ ส่งผลให้ Everything Everywhere All at Once คว้ารางวัลพร้อมรับขนมจีบซาลาเปาได้แบบ 7-11 นั่นคือชนะเลิศ 7 รางวัล จาก 11 สาขาที่เข้าชิง ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แดเนียล ควาน และแดเนียล ไชเนิร์ท), ดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (มิเชล โหย่ว), ดาราสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (คี ฮุย ควน), ดาราสมทบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (เจมี ลี เคอร์ติส), บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay) และตัดต่อภาพยอดเยี่ยม (Best Editing)
 
นอกจากเบื้องหน้าที่เปิดโลกความสนุกแบบมัลติเวิร์สแล้ว เบื้องหลังของหนังเรื่องนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน The Attraction จัดมาให้ 7 ข้อเน้นๆ หาอ่านที่ไหนไม่ได้อย่างแน่นอน (โม้)
1. การใช้ภาษาของแต่ละตัวละคร มีส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องเป็นอย่างมาก เอเวลิน (มิเชล โหย่ว) พูดกับพ่อของเธอ (James Hong) เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง แต่เธอพูดกับเวย์มอนด์สามี (คี ฮุย ควน) เป็นภาษาจีนกลาง ในขณะที่พูดกับลูกสาวจอย (Stephanie Hsu) เป็นภาษาจีนกลางปนภาษาอังกฤษ
ซึ่งจอยก็คุยกับคุณตาเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนแบบงูๆ ปลาๆ ทำให้การสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวเข้าขั้นโกลาหล ผูกเป็นปมให้เกิดความแตกแยกของตัวละคร
อุปสรรคทางภาษานี้เองที่เป็นตัวเดินเรื่องสำคัญ เมื่อครอบครัวนี้ต้องไปเจอกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีของอเมริกา ที่เข้มงวดและใช้ศัพท์แสงระดับแอดวานซ์เกินกว่าคำสื่อสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน
 
2. James Hong ที่รับบทพ่อของมิเชล โหย่ว นั้นอายุอานามเลยวัยเกษียณไปไกลแล้ว ขณะถ่ายทำหนังเรื่องนี้เขามีอายุ 91 ปี ทำให้เมื่อต้องเข้าฉากแอ็คชั่นยากๆ ต้องใช้สแตนด์อินแสดงแทน ซึ่งทั้งเรื่องก็มีถึง 5 คนเลยทีเดียว และหนึ่งในนั้นต้องโกนหัวเกลี้ยงเกลาเพื่อเข้ามารับงานนี้โดยเฉพาะ
3. สองผู้กำกับ ควานและไชเนิร์ท ตั้งใจเขียนบทนี้โดยมีเฉินหลงเป็นตัวแสดงนำ โดยแรงบันดาลใจของคาแรคเตอร์หลักมาจากหนังเรื่อง Supercop ที่เฉินหลงแสดงร่วมกับมิเชล โหย่ว เมื่อปี 1992 แต่ดูไปดูมาก็เปลี่ยนใจให้มิเชล โหย่ว เป็นตัวเดินเรื่องหลักแทนซะหยั่งงั้น เพราะการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของภรรยา มันดูเมกเซนส์กว่า
4. Ke Huy Quan เปิดตัวสู่โลกภาพยนตร์ในบทบาทนักแสดงเด็ก “Short Round” จากหนังเรื่องอินเดียน่า โจนส์ เมื่อปี 1984 ต่อด้วยหนังและละครซิตคอมอีก 2-3 เรื่อง และ “Encino Man” (1992) คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่เขาแสดง ซึ่งนั่นก็ต้องย้อนเวลากลับไปถึง 30 ปีเลยทีเดียว
 
หลังจากห่างหายจากวงการไปกว่า 30 ปี พอได้โอกาสแสดงฝีมือในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาก็ระเบิดความเก็บกด แบบจัดหนักจัดเต็ม กับบทบาทของ Waymonds กว่า 200 บุคลิกในจักรวาลคู่ขนาน ช่างสาแก่ใจคนดูยิ่งนัก
 
5. ภาพยนตร์เรื่องนี้ พูดถึง “การตัดสินใจเลือก” และ “โชคชะตา” ที่สามารถนำพาชีวิตผู้คนไปสู่เส้นทางที่คาดไม่ถึง หลายคนคงเคยตั้งคำถาม ว่าชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรในไทม์ไลน์ชีวิตที่ต่างจากนี้
 
การได้ มิเชล โหย่ว มารับบทแสดงนำนี้ นับว่าเหมาะสมมาก
 
เพราะ โหย่ว เกิดในครอบครัวชาวมาเลเซียที่ร่ำรวย วัยเด็กเธอสนใจกิจกรรมที่เน้นการใช้ความสามารถทางร่างกายหลายอย่าง เช่น บาสเก็ตบอล, ว่ายน้ำ และบัลเลต์
 
เมื่อเข้าสู่วัยทีน เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บริเวณหลัง ทำให้ความฝันในการเป็นนักเต้นบัลเลต์มืออาชีพของเธอต้องสิ้นสุดลง
 
ในปี 1983 ชีวิตพลิกผัน แม่ของเธอได้ส่งเข้าประกวด Miss Malaysia และได้ตำแหน่งนี้ไป ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานถ่ายโฆษณากับแจ็กกี้ ชาน นำไปสู่สัญญาการแสดงกับบริษัทโปรดักชั่นในฮ่องกงในที่สุด
6. ตอนที่มีการเปิดตัวภาพยนตร์อนิเมชั่น Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) และ การ์ตูน “Rick and Morty” ซีซั่นที่สอง ซึ่งมีแนวคิดแบบพหุจักรวาลนั้น Daniel Kwan ผู้กำกับถึงขั้นออกอาการหัวร้อนและหงุดหงิดใจอยู่ไม่น้อย เพราะดูเหมือนว่าแนวคิดต่างๆ ที่เขากำลังจะนำมาสร้างเป็นหนัง ถูกชิงตัดหน้าทำไปก่อนเสียแล้ว
 
7. รางวัลตัดต่อภาพยอดเยี่ยมต้องยกเครดิตให้ทีม VFX หรือ Visual Effect สำหรับหนังเรื่องนี้ทำโดยคน 9 คน ซึ่งในจำนวนคนทั้ง 9 นี้ก็นับรวม 2 ผู้กำกับ แดเนียล ควาน และแดเนียล ไชเนิร์ท เข้าไปด้วย
 
โดยฝีมือการตัดต่อและใส่สเปเชียลเอฟเฟกต์ระดับนี้ ไม่น่าเชื่อว่าทีมงานทั้งหมดไม่มีคนไหนที่ได้เรียนเกี่ยว VFX มาเลย ทุกสิ่งเกิดจากการเปิดคลิปฝึกจาก youtube และการเรียนรู้ด้วยกันผ่านแบบฝึกหัดฟรีที่หาได้ทางออนไลน์
หนึ่งในเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ก็คือการสอดแทรกวัฒนธรรมเอเชีย ที่ให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์ และสถาบันครอบครัว ภาพของการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลายเจนเนอเรชั่นอยู่ร่วมบ้าน เป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างและหาได้ยากในสังคมตะวันตก อย่างที่เราได้เห็นผ่านสื่อภาพยนตร์จากทางฝั่งฮอลลีวูดกันในหลายเรื่อง
 
อย่างในซีนสำคัญที่มีบทสนทนาใน Trailer ของหนังเรื่องนี้
 
แม้ว่าผู้เป็นแม่จะปลดล็อคสกิลวิบวับทะลุมัลติเวิร์ส
สามารถพาตัวเองไปยังที่ใดก็ได้ที่ใจปรารถนา
ไปเป็นตัวเองในจักรวาลอื่นที่เพียบพร้อมกว่าในโลกนี้
แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกอยู่กับลูกสาว
เปิดร้าน Laundry เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นเดิม
 
“Of all the places I could be, I just want to be here with you.”
 
Everything Everywhere All at Once
นอกจากจะทำหน้าที่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมแล้ว
ตัวหนังยังเข้ามาเติมเต็มความรู้สึก
และทิ้งแง่คิดอะไรบางอย่างให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเอง
 
ว่าแต่ละการตัดสินใจที่จะมาถึงในอนาคต
จะพาชีวิตเราไปสู่จุดไหนได้บ้าง
NOTE : สำหรับหนังไทยเองก็เคยมีการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้มาหลายครั้ง อย่างเช่น มนต์รักทรานซิสเตอร์, Last Life in the Universe, โหมโรง, มหา’ลัย เหมืองแร่, รักแห่งสยาม, ฝนตกขึ้นฟ้า, คิดถึงวิทยา, อาปัติ, แสงกระสือ, ฮาวทูทิ้ง, ร่างทรง ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ผ่านรอบคัดเลือก
 
ที่ใกล้เคียงหน่อยก็คือเรื่อง One for the Road (วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ) เมื่อปีที่ผ่านมา(2022) ที่สามารถทะลุเข้ารอบ Nomination list ได้
 
จากหนังที่ได้รางวัลออสการ์ในปีนี้ก็มีหลายเรื่องที่สามารถนำมาเป็น Case Study สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านเรา
 
The Attraction ก็หวังว่า จะมีหนังไทยที่มีคุณภาพ ออกไปสร้างชื่อในระดับโลก คว้ารางวัลออสการ์มาให้ชื่นใจได้บ้างในอนาคตนะ