Skip links

เมื่อ ‘ชาร์ลี แชปลิน’ ใช้อารมณ์ขันผลักดัน สวัสดิภาพแรงงาน soft power แบบไม่ต้องพูดเยอะ

1 พฤษภาคม คือวันแรงงานสากลของทุกปี ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรำลึกเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสวัสดิภาพแรงงาน และตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานในฐานะมนุษย์ผู้มีชีวิตจิตใจ

โดยหนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวตามวิถีความถนัดของตนนั้นคือ “ชาร์ลี แชปลิน” ศิลปินผู้ใช้อารมณ์ขันผ่านจอภาพยนต์เป็นเครื่องมือการต่อสู้อย่างหนึ่ง

 

ชาร์ลี แชปลิน เกิดเมื่อปี ค.ศ.1889 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ยากลำบาก และเป็นเวลาเดียวกันที่กรุงลอนดอนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากเข้าสู่ยุคอุตสาหกกรม โดยกว่าที่ผู้คน (ลูกจ้าง-นายจ้าง) จะปรับตัวให้อยู่ร่วมกันในยุคใหม่ได้อย่างสันติสุข ก็ต้องสังเวยมาด้วยความทุกข์ยากของแรงงานชนชั้นล่างจำนวนมาก ส่งผลให้ลอนดอนในเวลานั้นเต็มไปด้วยความแออัด สกปรก และอันตราย โดยบ้างก็ว่าช่วงนั้นเป็นยุคมืดของลอนดอนด้วยซ้ำไป

เปรียบเทียบง่ายๆ “ชาร์ลี แชปลิน” ลืมตาดูโลกหลังจากที่ “แจ็กเดอะริปเปอร์” ตระเวนก่อเหตุฆาตกรรมในย่านเสื่อมโทรมได้ 1 ปี

จากนั้นเมื่ออายุ 18 ปี “ชาร์ลี แชปลิน” ได้ไปถึงแผ่นดินอเมริกาในฐานะนักแสดง จนเขาเริ่มมีชื่อเสียง / เงินทอง มากขึ้น

แต่มิวาย ความระส่ำระสายของชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้จำกัดอยู่แค่ลอนดอน แต่ทว่ากำลังเกิดขึ้นกับทั้งโลก และแน่นอนว่า การจะเข้าใจอารมณ์ขันของมนุษย์ได้ ก็จำต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ก่อน โดย “ชาร์ลี แชปลิน” ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พึงสังวรถึงความทุกข์ยากแห่งชีวิต และความสนใจในเรื่องนี้จึงนำไปสู่ตัวละคร “คนจรจัด” (The Tramp) อันเป็นภาพจำอมตะจนถึงทุกวันนี้

 

กระทั่งราวๆ 20 ปีต่อมา อเมริกาก็เข้าสู่ยุค “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” (The Great Depression 1929 -1939) ซึ่งเป็นภาวะแห่งความแร้นแค้น ว่างงาน และกระวนกระวาย ซึ่งประชาชนจำนวนมากกำลังเผชิญชะตากรรมความลำบาก

และในช่วงเวลานั้นเอง “ชาร์ลี แชปลิน” จึงได้ออกผลงานภาพยนต์ที่สะท้อน ‘หัวอกแรงงาน’ และจิกกัด ‘ทุนนิยมอุตสาหกรรม’ เอาไว้อย่างเจ็บแสบ ด้วยผลงานที่ชื่อ “Modern Times” (1936) ซึ่งวิพากษ์ถึงความขาด/ไร้มนุษยธรรมในการจ้างงาน

แค่ฉากเริ่มต้นของเรื่อง ก็เปิดด้วยภาพตัดสลับระหว่าง ‘ฝูงสัตว์ที่กำลังวิ่งอยู่ในคอกอย่างเบียดเสียด’ กับ ‘คนเมืองที่แออัดจากรถไฟไปสู่โรงงาน’ ซึ่งเปรียบเทียบสภาพการณ์ใช้แรงงานคนไม่ต่างจากสัตว์

โดยแกนหลักของ “Modern Times” ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักซึ่ง “ชาร์ลี แชปลิน” ได้แสดงเป็นคนงานในโรงงาน โดยพยายามนำเสนอถึงภาวะการลดทอนความเป็นมนุษย์ในโรงงาน ที่เหล่าผู้ใช้แรงงานที่ถูกบังคับให้ทำงานหนัก โดยผู้จ้างมิได้ใยดีต่อความเป็นอยู่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ของผู้ใช้แรงงาน

โดยในเรื่อง มีทั้งฉากที่คนงานทำงานหนักจนป่วย จนเสียสติ แต่ทว่านายจ้างก็ไม่ได้สนใจ หนำซ้ำยังสั่งเดินหน้ากำลังผลิตต่อไป เป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบทุนนิยม ที่หวังผลเป็นเลิศทางการเงินเพียงอย่างเดียว ตามปรัชญาทุนนิยม (ที่ยังไม่มีหัวใจ) ส่วนชีวิตของคนงานก็เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในสายธารการผลิตที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้อง โดยภายในเรื่อง “ชาร์ลี แชปลิน” จับพลัดจับผลูไปเป็นผู้นำการประท้วง ก่อนจะถูกตำรวจจับขังซังเต โดยประเด็นนี้ก็สะท้อนไปยังการคุ้มครองแรงงานตามกฏหมาย รวมถึงเสรีภาพการแสดงออก เพราะอย่าลืมว่าในขณะนั้น เป็นช่วงที่อเมริกากำลังห้ำหั่นกับคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ที่ออกมาประท้วงเรียกร้องอะไรก็ตามที่มีกลิ่นอายความเป็นสังคมนิยมหน่อย ก็จะถูกหมายหัวเพ่งเล็ง กระทั่งถูกจับไปเลยก็มี

และในเรื่อง “Modern Times” ยังพาดพิงถึงการเข้ามาของเครื่องจักรในโรงงาน ความโดดเดี่ยวแปลกแยก และความขาดไร้คุณค่าของคนงาน และประเด็นอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถกล่าวได้ว่า “Modern Times” ของ “ชาร์ลี แชปลิน” เรื่องนี้มีคุณูปการที่สำคัญต่อชนชั้นแรงงานถึงขั้นที่พลิกชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างเห็นผลได้ขนาดนั้น

 

แต่ทว่าการที่ “ชาร์ลี แชปลิน” หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเล่าอย่างแสบสัน และขบขันไปพร้อมกันเช่นนี้ ก็ถือได้ว่ามีส่วนช่วยในการพูดถึงเรื่องความเป็นอยู่ของแรงงานได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ ด้วยความที่เป็นภาพยนต์เงียบ จึงไม่มีข้อจำกัดทางภาษา กล่าวคือ ภาพยนต์เรื่องนี้จึงเป็นที่กล่าวถึงกันในระดับสากลจวบจนทุกวันนี้

อ้างอิง :

https://www.britannica.com/topic/Modern-Times-film

https://www.linkedin.com/…/how-charlie-chaplins-modern…/

https://ivypanda.com/…/policing-in-charlie-chaplins…/

https://thematter.co/thinkers/death-of-charlie-chaplin/94062

https://theurbanis.com/public-realm/05/10/2021/5467

https://www.pbs.org/…/charlie-chaplin-about-the-actor/77/